Thammasat Institute of Area Studies (TIARA)
ความเป็นมาของสถาบันอาณาบริเวณศึกษา

สถาบันอาณาบริเวณศึกษา (Thammasat Institute of Area Studies: TIARA) เป็นองค์กรซึ่งจัดตั้งขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐเมื่อพ.ศ. 2558 ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและแบ่งส่วนงานต่าง ๆ ใหม่ โดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2559 ได้กำหนดให้สถาบันศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Institute for Study of International Cooperation: TISIC) เดิมเปลี่ยนเป็น “สถาบันอาณาบริเวณศึกษา” และรวมเอาศูนย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านอาณาบริเวณศึกษา (Area Study) เข้าไว้ภายใต้สถาบันฯ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาเอเปค ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา ศูนย์อินเดียศึกษา ศูนย์ศึกษารัสเซียและเครือรัฐเอกราช และศูนย์อาเซียนศึกษา ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีวัตถุประสงค์ให้ศูนย์ด้านอาณาบริเวณศึกษาต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่หลายศูนย์ เข้ามาอยู่ภายใต้กรอบเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์เหล่านี้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันในอันที่จะก่อประโยชน์ในทางวิชาการสู่สังคม และนำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งเสริมสร้างให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้นำที่มีความเป็นเลิศในด้านอาณาบริเวณศึกษา ทั้งในระดับประเทศไทยและระดับภูมิภาค

สถาบันฯ มีเป้าหมายหลักในด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาณาบริเวณศึกษาที่ทางสถาบันฯ รับผิดชอบอยู่ ทั้งในลักษณะรายประเทศ การรวมกลุ่มในภูมิภาค และความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค รวมทั้งการให้บริการทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ อาณาบริเวณศึกษา และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยผ่านการจัดอบรม สัมมนาระหว่างประเทศ การจัดการบรรยายสาธารณะ (Public Lecture) โดยนักวิชาการจากต่างประเทศและในประเทศ รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไป นักเรียน และนักศึกษา นอกจากนี้ จากการที่สถาบันฯ มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร รวมทั้งเครือข่ายทั้งทางด้านนักวิชาการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สถาบันฯ จึงเริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียแปซิฟิกศึกษา (ภาษาอังกฤษ) (Master of Arts in Asia Pacific Studies: MAPS) เมื่อ พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังส่งเสริมและแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในด้านวิชาการระหว่างกันกับนักวิชาการในต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อให้สถาบันฯ มีงานวิจัยที่มีคุณภาพ มีความเป็นเลิศทางวิชาการในด้านอาณาบริเวณศึกษา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเป็นสากล

วิสัยทัศน์

 

“เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นเลิศในด้านอาณาบริเวณศึกษา”

 

สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มีปณิธานมุ่งหวังความเป็นเลิศด้านการวิจัยและวิชาการในด้านอาณาบริเวณศึกษา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเป็นเลิศทางวิชาการและเสริมสร้างความเป็นนานาชาติ

พันธกิจ
  1. เป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการบริหารงานสูง
  2. เป็นสถาบันที่มีความเป็นเลิศในเรื่องอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies)
  3. เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งในเรื่องงานวิจัยและสิ่งตีพิมพ์ทางวิชาการ เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย
  4. ช่วยเสริมสร้างความเป็นนานาชาติให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  5. เสริมสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ มีความรู้ ความเข้าใจ และเชี่ยวชาญในด้านพื้นที่ต่าง ๆ ในลักษณะของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะพื้นที่และภูมิภาค
  6. เป็นหน่วยงานหลักที่จะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องพื้นที่ต่าง ๆ ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรของชาติ
  7. เป็นสถาบันที่มีเครือข่ายวิจัยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค
  8. ผลิตบุคลากรและสร้างโอกาสให้นักศึกษาไทยสามารถมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องประเทศต่าง ๆ โดยผ่านการศึกษาร่วมกันกับนักศึกษาจากประเทศอื่น ๆ ในโครงการ MAPS
วัตถุประสงค์
  1. พัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยเกี่ยวกับประเทศ/กลุ่มประเทศตามขอบเขตความรับผิดชอบ รวมทั้งองค์ความรู้ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเป้าหมายพื้นฐานการศึกษาค้นคว้า วิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้ที่เป็นรากฐานของความเข้าใจในระยะยาวเกี่ยวกับภูมิภาคหรือประเทศอื่น ๆ และเป็นหน่วยงานกลางด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานในทางปฏิบัติหรือในแง่นโยบายที่เกี่ยวข้อง
  2. ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้จากประสบการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มีต้นแบบมาจากภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก และนำมาปรับใช้หรือเปรียบเทียบกับวิถีทางจารีตของประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นทั้งโอกาสและสิ่งท้าทายต่อกัน เพื่อเข้าใจทางเลือก โอกาส และลู่ทางความเป็นไปได้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในโลกปัจจุบัน
  3. ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านการศึกษาค้นคว้าและแลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ซึ่งจะเป็นสิ่งเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดหุ้นส่วนการทำงานระหว่างกัน
  4. ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี ภูมิภาค อนุภูมิภาค และทวิภาคี และเป็นศูนย์ประสานความร่วมมือกับศูนย์ศึกษาเอเปคของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค และกรอบความร่วมมือกับประเทศออสเตรเลีย (ตามมติคณะรัฐมนตรีในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาเอเปคและศูนย์ออสเตรเลียศึกษา)
  5. ให้คำปรึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับประเทศ/กลุ่มประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศ หรืออื่น ๆ แก่หน่วยงานของรัฐ เอกชน และองค์การระหว่างประเทศ
  6. เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ผลงานวิชาการแก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสาธารณชนทั่วไป
โครงสร้างองค์กร

โครงสร้างการบริหารสถาบันอาณาบริเวณศึกษา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถาบันฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด อยู่ในตำแหน่งวาระละ 3 ปี โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งทำหน้าที่สรรหาและประเมินผลการทำงานของผู้อำนวยการทั้งขณะที่ยังอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งและเมื่อพ้นวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว ทั้งนี้ สถาบันฯ จะมีคณะกรรมการประจำสถาบันฯ เป็นคณะกรรมการที่กำกับดูแลการบริหารงานของสถาบันฯ โดยมีผู้อำนวยการสถาบันเป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภายในวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัยรวมกัน 14 คน อยู่ในตำแหน่งวาระละ 2 ปี มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ 69 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้าง และการบริหารส่วนงานภายใน พ.ศ. 2559

สำหรับศูนย์แต่ละศูนย์ภายใต้สถาบันฯ จะมีผู้อำนวยการศูนย์ที่ดูแลกิจการของศูนย์ต่าง ๆ ในส่วนของหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียแปซิฟิกศึกษา (MAPS) จะมีผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษา ทำหน้าที่ดูแลการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร และพัฒนาคุณภาพการศึกษา

โครงสร้างการบริหารงาน
หมายเหตุ: * คณะกรรมการประจำศูนย์ มีเฉพาะศูนย์ศึกษาเอเปค และศูนย์ออสเตรเลียศึกษา ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นโดย สกอ. เท่านั้น

ติดตามข่าวสารของสถาบันอาณาบริเวณศึกษาได้ตามช่องทางต่อไปนี้
Website: https://tiaratu.home.blog/
Facebook: https://www.facebook.com/tiara.tu2015/